«

»

มี.ค.
30


คำสั่ง กำหนดนโยบายการฟอกเงิน

คำสั่งสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี  จำกัด
ที่ 10  /2559
เรื่อง  กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
และสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
************

ตามที่กฎกระทรวง การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ.2556 ให้ไว้                 ณ  วันที่  11  กรกฎาคม  พ.ศ.2556 กำหนดให้สถาบันการเงินประเภทสหกรณ์ ต้องกำหนดและดำเนินการตามนโยบายและระเบียบวิธีการเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับการประเมินและบริหารความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายไว้เป็นแนวปฏิบัตินั้น
อาศัยอำนาจตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี  จำกัด ข้อ 79 (20)  ประกอบมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จำกัด ชุดที่ 23  ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 28  มีนาคม  2559  จึงกำหนดนโยบายไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 วัตถุประสงค์ของนโยบายตามคำสั่งนี้
1.1 เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การ ก่อการร้าย สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จำกัด
1.2 เพื่อป้องกันหรือคัดกรองเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ออกไปจากสหกรณ์
1.3 เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบ ธุรกรรมหรือการเคลื่อนไหวทางการเงินที่มีเหตุอัน      ควรสงสัย ซึ่งอาจมีขึ้นกับสหกรณ์
1.4 เพื่อตรวจสอบข้อมูลสมาชิกหรือลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับรายชื่อบุคคลที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินประกาศ
1.5 เพื่อสนับสนุนให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้รับรายงานธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ 2 นโยบายตามคำสั่งนี้ถือเป็นนโยบายหลักที่จะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษทางวินัย ตามข้อบังคับการทำงานของสหกรณ์ต่อไป
ข้อ 3 แนวทางปฏิบัติตามคำสั่งนี้
ให้ผู้จัดการหรือผู้ที่ทำหน้าที่ผู้จัดการ “เป็นผู้มีหน้าที่รายงาน” การทำธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ผู้จัดการหรือผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการ อาจมอบหมายหน้าที่ในการรายงานธุรกรรมให้รองผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งไม่น้อยกว่าหัวหน้าฝ่ายทำการแทนก็ได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือและต้องรายงานให้ประธานกรรมการทราบพร้อมทั้งให้รายงานให้คณะกรรมการดำเนินการทราบต่อไป
 
ข้อ 4 ให้ผู้มีหน้าที่รายงานมีหน้าที่ ดังนี้
4.1 ต้องสนับสนุนและพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
4.2 ดำเนินกระบวนการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเคร่งครัด
4.3 รายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
4.4 ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายกำหนด
ข้อ 5 การปฏิบัติของผู้มีหน้าที่รายงานให้ผู้มีหน้าที่รายงานปฏิบัติ ดังนี้
แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับลูกค้า (สมาชิกของสหกรณ์)
5.1 การแสดงตนของลูกค้า การระบุตัวตนตามกฎหมาย จะต้องรับสมัครสมาชิกโดยมีคุณสมบัติของสมาชิกและสมาชิกสมทบ ถูกต้องตามข้อบังคับของสหกรณ์ เอกสารประกอบจะต้องถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบันหากเป็นสำเนาเอกสาร ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารไว้ด้วย
5.2 ต้องตรวจสอบเพื่อวางหลักเกณฑ์ในการบริหารความเสี่ยงซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ภายในองค์กร ได้แก่ การซื้อหุ้น การกู้เงิน การรับฝากเงิน หรือการให้บริการทางการเงินอย่างอื่น ทั้งนี้ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้ ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงิน หรือการลงทุนโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัด
5.3 การรับเจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามระเบียบของสหกรณ์ว่าด้วยเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด และต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน หรือจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการฝึกอบรมตามสถานศึกษา หรือศูนย์ฝึกอบรมอื่นที่มีการฝึกอบรมในเรื่องดังกล่าวเป็นประจำ กำหนดกลยุทธ์และงบประมาณประจำปีสำหรับการนี้โดยเฉพาะทุก ๆ ปี
5.4 กำหนดให้มีการตรวจสอบภายในเป็นการเฉพาะภายในองค์กร เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามนโยบาย ให้อำนาจการตรวจสอบเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในการบริหารภายในองค์กร
5.5 ต้องกำหนดกระบวนการในการปรับปรุงนโยบายตามคำสั่งนี้ให้ทันสมัย ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อยู่เสมอ
ข้อ 6 การจัดให้ลูกค้าแสดงตน
นอกจากข้อมูลสมาชิกที่ลูกค้าได้แสดงตน ตลอดจนคุณสมบัติที่ลูกค้าได้แจ้งให้สหกรณ์ในการรับเข้าเป็นสมาชิกซึ่งมีอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้มีหน้าที่รายงานอาจให้ลูกค้าแสดงตนเพิ่มเติมที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
6.1 ลูกค้าบุคคลธรรมดา
(1) ชื่อเต็ม
(2) วัน เดือน ปีเกิด
(3) เลขประจำตัวประชาชน
(4) ที่อยู่ ตามทะเบียนบ้านและที่อยู่จริงในปัจจุบัน
(5) อาชีพ สถานที่ทำงาน
(6) ข้อมูลอื่น เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือ E-Mail
(7) ลงลายมือชื่อทุกครั้งที่ทำธุรกรรมหรือสร้างความสัมพันธ์กับสหกรณ์
6.2 ลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลหรือลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย
(1) ชื่อนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย
(2) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
(3) หลักฐานสำคัญแสดงตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) สำหรับลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลทั่วไป ได้แก่ หนังสือรับรองการจดทะเบียนที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกินหกเดือน 
(ข) สำหรับลูกค้าที่เป็นส่วนราชการ องค์กรของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ หนังสือแสดงความจำนงในการทำธุรกรรม หรือหนังสือแต่งตั้งหรือหนังสือมอบอำนาจ
(ค) สำหรับลูกค้าที่เป็นสมาชิก มูลนิธิ สมาคม สโมสร วัด มัสยิด ศาลเจ้า และ
นิติบุคคลอื่นในลักษณะเดียวกันนี้ ได้แก่ หนังสือแสดงความประสงค์ในการทำธุรกรรม หนังสือแสดงการจดทะเบียนจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือหนังสือแต่งตั้งหรือหนังสือมอบอำนาจในการทำธุรกรรม
(ง) สำหรับลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย ได้แก่ หนังสือหรือเอกสารสำคัญแสดงว่าได้มีการแต่งตั้งบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมายขึ้น
(4) ประเภทกิจการและวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการ
(5) ตราประทับ
(6) สถานที่ตั้ง ข้อมูลทางโทรศัพท์ ที่อยู่ E-Mail
(7) รายชื่อ ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
ข้อ 7 การแสดงตนของลูกค้าที่ไม่ได้แสดงตนต่อหน้า
7.1   ลูกค้าบุคคลธรรมดา
7.2   ลูกค้านิติบุคคลหรือลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีการตกลงกันตามกฎหมาย กรณีนี้สหกรณ์ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายสหกรณ์ไม่เปิดโอกาสให้กระทำได้ อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นหรือต้องดำเนินการให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง และใช้ข้อมูลตามข้อ 6.1 และ 6.2
ข้อ 8 การแสดงตนของผู้ที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว
8.1 ผู้ที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวประเภทบุคคลธรรมดา การแสดงตนให้ใช้ข้อมูลและเอกสารตามข้อ 6.1 
8.2 ผู้ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวประเภทนิติบุคคล หรือเป็นบุคคลที่มีการตกลงกันตามกฎหมายการแสดงตนให้ใช้ข้อมูลและเอกสารตามข้อ 6.2
ข้อ 9 การแสดงตนเป็นครั้งคราวแบบไม่พบหน้า
ไม่ควรจัดให้มีบริการแบบไม่พบหน้า สำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว กรณีมีความจำเป็นควรจัดให้มีการแสดงตน ดังนี้
9.1 บุคคลธรรมดา การแสดงตนให้ใช้ข้อมูลและเอกสารตามข้อ 6.1
9.2 ลูกค้านิติบุคคลหรือลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีการตกลงกันตามกฎหมายการแสดงตนให้ใช้ข้อมูลและเอกสารตามข้อ 6.2
ข้อ 10 การตรวจสอบข้อมูลและเอกสารแสดงตน
ต้องให้อำนาจบุคลากรหรือพนักงานผู้ตรวจสอบในการใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม ในขั้นตอนนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
10.1 เพื่อทราบว่าลูกค้าหรือสมาชิกที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว เป็นนิติบุคคลหรือเป็นบุคคล ที่มีการตกลงกันทางกฎหมาย มีตัวตนอยู่จริงตามกฎหมาย
10.2 เพื่อทราบว่าวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมแบบครั้งคราว        มีความสอดคล้องกับข้อมูลการแสดงตนของลูกค้า หรือผู้ที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว
10.3 เพื่อทราบว่าข้อมูลการแสดงตนที่ได้มานั้น เพียงพอต่อการดำเนินการบริหารความเสี่ยงตามกฎกระทรวงหรือไม่
ข้อ 11 การแต่งตั้งผู้กำกับดูแลนโยบายและผู้ประสานงานสำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน
ให้มีการแต่งตั้งกรรมการดำเนินการและหรือเจ้าหน้าที่ เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายและประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ข้อ 12 แนวนโยบายอื่น ๆ 
นโยบายอื่นหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่นอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ในคำสั่งนี้ แต่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติให้นำเสนอประธานกรรมการเพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณา

  ทั้งนี้  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่   28   มีนาคม  พ.ศ. 2559
   
(นายสาคร  รอดขันเมือง)
ประธานกรรมการ
สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จำกัด

 

ดาวน์โหลด… 

คำสั่ง กำหนดนโยบายการฟอกเงิน สอ.สสจ.อด..pdf 


Share to Line